Monday 16 August 2010

ความหมายของชุมชน

ความหมายของคำว่า “ชุมชน “ มีดังต่อไปนี้
ความหมาย ตามพจนานุกรมในพจนานุกรม Webster‘s New Dictionary of the American Language ได้ให้ความหมายสรุปได้ว่า “ชุมชน “ หมายถึง กลุ่มชนที่อยู่ในท้องที่หรือในเมืองเดียวกัน มีอาณาบริเวณหรือเมืองที่ มีกลุ่มคนอยู่รวมกัน และกลุ่มคนที่อยู่รวมกันนี้มีความสนใจในเรื่องต่างๆ คล้ายกัน ( รัชนีกร เศรษฐโส 2522 : 91)
ความหมายในพจนานุกรมศัพท์สังคมวิทยาฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ 2524 (ราชบัณฑิตยสถาน .2524 : 112) ให้ความหมายว่า ชุมชนหรือประชาคม คือ

1. กลุ่มย่อยที่มีลักษณะหลายประการเหมือนกันลักษณะสังคม แต่มีขนาดเล็กกว่าและมีความสนใจร่วมทีประสานงานในวงแคบกว่า ชุมชน หมายถึง เขตพื้นที่ระดับของความคุ้นเคย และการติดต่อระหว่างบุคคล ตลอดจนพื้นฐานความยึดเหนี่ยว เฉพาะบางอย่างที่ทำให้ชุมชนต่างไปจากกลุ่มเพื่อนบ้าน ชุมชนมีลักษณะเศรษฐกิจเป็นแบบเลี้ยงตัวเองทีจำกัดมากว่าสังคม แต่ภายในวงจำกัดเหล่านั้นย่อมมีการสังสรรค์ใกล้ชิดกว่า และความเห็นอกเห็นใจลึกซึ้งกว่า อาจจะมีสิ่งเฉพาะบางประการที่ผูกพันเอกภาพ เช่นเชื้อชาติ ต้นกำเนิดเดิมของชาติหรือศาสนา

2. ความรู้สึกและทัศนคติทั้งมวลที่ผูกพันปัจเจกบุคคลให้รวมเข้าเป็นกลุ่ม
ความหมายที่นักสังคมวิทยาต่างประเทศให้ไว้ทีควรนำมากล่าวถึง มีดังต่อไปนี้
Robert M .Maclver ( โรเบิต เอ็ม .แม็คไอเวอร์ ) ให้ความหมายไว้ในหนังสือ Society , Its Structure and changes ว่า ชุมชน คือ กลุ่มชนที่อยู่รวมกัน และสมาชิกทุกคน ได้ให้ความสนใจ ในเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้นร่วมกัน มิเพียงแต่ให้ความสนใจอย่างใดอย่างหนึ่งเฉพาะ แต่ให้ความสนใจโดยทั่วไป ซึ่งมีขอบเขตมากพอที่จะอยู่ร่วมกันในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้แล้วชุมชนนั้นอาจหมายถึง การอยู่รวมกันอย่างง่ายๆ เช่น หมู่บ้านหนึ่ง ชนเผ่าหนึ่ง หรือการอยู่ร่วมกันขนาดใหญ่ เช่น เมืองหนึ่งๆ หรือประเทศหนึ่ง (ไพรัตน์ เดชะรินทร์ : 2544 : 1 –2 )
Roland Warran ( โรแลนด์ วอร์แรน ) ให้ความหมายไว้ว่า “ ชุมชน “ หมายถึง กลุ่มบุคคลหลายๆกลุ่มมารวมกันอยู่ในอาณาเขตและภายใต้กฎหมายหรือข้อบังคับอันเดียวกัน มีการสังสรรค์กัน มีความสนใจร่วมกัน มีผลประโยชน์คล้าย ๆกัน มีแนวพฤติกรรมเป็นอย่างเดียวกัน เช่น ภาษาพูด ขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีวัฒนธรรมร่วมกันนั่นเอง ( จีรพรรณ กาญจนะจิตรา : 2530 : 11 ) Cristient T . Onussen ( คริสเตียน ที. โอนัสเซน ) อธิบายว่า “ชุมชน “ ได้แก่ คนที่อยู่ร่วมกันในขอบเขตทางภูมิศาสตร์ที่แน่นอน และมีความสัมพันธ์และโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องและพึ่งพาอาศัยกัน ความสัมพันธ์และโครงสร้างดังกล่าวมีวิวัฒนาการขึ้นมาจากกระบวนการกลุ่มที่ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ทางสิ่งแวดล้อมของชุมชนจึงถือได้ว่าเป็นกลุ่มทางดินแดน ทั้งนี้เพราะการพึ่งพาอาศัยกัน และการอยู่ร่วมกันเป็นปึกแผ่นภายในกลุ่มเกิดขึ้นได้เนื่องจากคนในกลุ่มสำนึกเรื่องเอกภาพ และความสามารถของชุมชนอันเพียงพอในการควบคุมกระบวนการทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเกิดขึ้นในขอบเขตทางดินแดน “ (สมนึก ปัญญาสิงห์ :2532 :2 )
Athur Dunham ( อาร์เธอร์ ดุนแฮม) ให้ความหมายว่า “ ชุมชน” คือ กลุ่มมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในอาณาเขตภูมิศาสตร์ค่อนข้างที่แน่นอนและติดต่อกัน ตลอดทั้งมีส่วนสำคัญของชีวิตทั่วไปอย่างเดียวกัน เช่น มารยาท ขนบธรรมเนียมประเพณี และแบบแห่งการพูด” ( สนธยา พลศรี. 2533:11)
สำหรับความหมายของชุมชนตามที่นักวิชาการของไทยได้ไห้ไว้ ที่ควรนำมากล่าวถึงมีดังนี้
ประดิษฐ์ มัชฌิมา ให้ความหมายไว้ว่า “ชุมชน คือ กลุ่มชนทีมีความรู้สึกนึกคิดและผลประโยชน์ร่วมกัน อาศัยอยู่ในบริเวณ หรือที่เดียวกัน มีการใช้ประโยชน์และบริการทางสังคมร่วมกัน”
( ประดิษฐ์ มัชฌิมา 25221: 42 )
พัฒน์ สุจำนงค์ ได้ให้ความหมายว่า “ชุมชน” หมายถึง ดินแดนทั่วไปทีมีจำนวนคนมากว่า 2 คนขึ้นไป ที่ได้ร่วมกันด้วยทรรศนะอย่างเดียวกัน คือ มีความคิดเห็นพ้องต้องกัน รวมตัวกันที่จะทำอะไรร่วมกันและก็หวังที่จะประสบความสำเร็จนั้นอย่างเดียวกัน ( พัฒน์ สุจำนงค์ และคนอื่นๆ 2525 :4 )
ยุวัฒน์ วุฒิเมธี ให้ความหมายว่า พื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของคนและหมมายความถึงกลุ่มของประชวาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้น โดยมีความสนใจวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และจุดหมายในการที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ( ยุวัฒน์ วุฒิเมธี: 5225 : 3 )
สัญญา สัญญาวิวัฒน์ ให้ความหมายไว้ว่า “ชุมชน “หมายถึง องค์การทางสังคมอย่างหนึ่งที่มีอาณาเขตครอบคลุมท้องถิ่นหนึ่ง และมวลสมาชิกสามารถบรรลุถึงความต้องการพื้นบานส่วนใหญ่ได้ และสามารถแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ของชุมชนเองได้” ( สัญญา สัญญาวิวัฒน์ : 2526: 6)
กรมการพัฒนาชุมชนให้ความหมายว่า “ชุมชน” หมายถึง กลุ่มคนที่มีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกัน และสามารถดำเนินงานกิจกรรมใดๆ เพื่อประโยชน์ร่วมกันได้ (กรมการพัฒนาชุมชน :2526 : 77 )
จีรพรรณ กาญจนะจิตรา ได้สรุปว่า “ชุมชนประกอบด้วยกลุ่มชนที่มีบางสิ่งบางอย่างคล้ายคลึงกัน รวมขึ้นเป็นชุมชนหนึ่ง มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิก สถาบัน และกลุ่มคนที่อยู่ในท้องที่เดียวกัน อยู่ใต้กฎหมายหรือข้อบังคับเดียวกัน( จีรพรรณ กาญจนะจิตรา:2530: 10 –11 )
ทนงศักดิ์ คุ้มไข่น้ำ ได้สรุปไว้ว่า “ ชุมชน “ หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่รวมกันในที่ใดที่หนึ่ง โดยมีความรู้สึกผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความรู้สึกนึกคิด และสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือสิ่งที่คล้ายๆ กัน มีการปฎิบัติต่อกันด้วยความรู้สึกว่าแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น ( ทนงศักดิ์
คุ้มไข่น้ำ และคนอื่นๆ : 2534 : 4 )
จากความหมายต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วพอจะสรุปได้ว่า ชุมชนหมายถึง กลุ่มคนที่มาอยู่รวมกันในเขตหรือบริเวณเดียวกันที่แน่นอน มีวิถีการดำเนินชีวิตคล้ายกัน มีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีปฎิสัมพันธ์ต่อกันและกันอยู่ภายใต้กฎระเบียบกฎเกรฑ์เดียวกัน ดังนั้นชุมชนจึงมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. คน (People ) คนเป็นองค์ประกอบสำคัญยิ่งของชุมชน หากปราศจากคนเสียแล้วจะเป็นชุมชนไม่ได้
2. ความสนใจร่วมกัน (Common Interest ) คนที่อยู่ในชุมชนนั้นจะต้องมีความสนใจอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน และความสนใจดังกล่าวเป็นผลมาจากการอยู่ร่วมกันในอาณาเขตบริเวณเดียวกัน
3. อาณาบริเวณ ( Area ) คนและสถานที่เกือบจะแยกกันไม่ได้ ต่างก็เป็นส่วนประกอบสำคัญและมีส่วนสัมพันธ์กันมีคนก็ต้องมีสถานที่ แต่การจะกำหนดขอบเขตและขนาดของสถานที่ของชุมชนหนึ่งๆเป็นเรื่องยาก
4. ปะทะสังสรรค์ต่อกัน (Interaction ) เมื่อมีคนมาอยู่ร่วมชุมชนเดียวกันแต่ละคนต้องมีจะต้องมีการติดต่อแลกเปลี่ยนและปฎิบัติต่อกัน
5. ความสัมพันธ์ของสมาชิก ( Relationship ) ความสัมพันธ์ต่อกันของสมาชิกในชุมชนเป็นสิ่งที่ผูกพันให้สมาชิกอยู่ร่วมกันในชุมชนนั้น
6. วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ( Cultural Traditions) ตลอดจนแบบแผนของการดำเนินชีวิตในชุมชน ( Pattern of Community Life ) ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายคลึงและเป็นรูปแบบเดียวกัน

No comments:

Post a Comment

เชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่างๆได้นะครับ