Friday 22 March 2013

โรคจากความร้อนที่สำคัญ

นับวันอากาศยิ่งร้อนขึ้นทุกวันทุกปี วันนี้จึงขอนำข้อมูลโรคจากความร้อนมาประชาสัมพันธ์ครับ

โรคจากความร้อนที่สำคัญ ได้แก่

1.โรคลมแดด (Heat Stroke) เป็นโรคที่เกิดจากความร้อนที่มีอาการรุนแรงที่สุด อาจเสียชีวิตได้ สาเหตุเนื่องจากระบบการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายไม่ทำงานในสภาวะอากาศที่ร้อนจัด ผู้ป่วยจะมีอุณหภูมิของร่ายการสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ผิวหนังแดง ร้อน และแห้ง ไม่มีเหงื่อ ชีพจรเต้นแรงเร็ว ปวดหัวตุบๆ วิงเวียน คลื่นไส้ ไม่รู้สึกตัว ต้องรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่มทันที ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น เช็ดตามตัวหรือห่อตัว รีบทำให้ร่างกายเย็นโดยเร็ว ห้ามดื่มน้ำในรายที่ไม่รู้สึกตัว หากมีอาการชักให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันอุบัติเหตุและการสำลักจากการอาเจียน ห้ามใช้วัสดุ เช่น ช้อน ส้อม ใส่ในปาก และรีบพาไปพบแพทย์ทันที

2.โรคเพลียแดด (Heat Exhaustion) เป็นโรคที่เกิดในขณะที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง ทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะมีอาการเหงื่อออกมาก หน้าซีด เหนื่อย อ่อนแรง วิงเวียน ปวดหัว อาเจียน เป็นลม กล้ามเนื้อเกร็ง การช่วยเหลือ ควรให้ดื่มน้ำเปล่าเย็น และเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น ถ้าเป็นไปได้พาเข้าไปอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ หรือใต้ร่มไม้

3.โรคตะคริวแดด (Heat Cramps) มักเกิดในคนเสียเหงื่อมาก ระหว่างทำงานหนัก หรือออกกำลังกาย ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้เป็นตะคริว ผู้ป่วยจะปวดกล้ามเนื้อ เกร็งบริเวณหน้าท้อง แขนหรือขา การช่วยเหลือควรหยุดการใช้แรงทันที พาเข้าในที่ร่มหรือที่มีเครื่องปรับอากาศ ดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มที่มีเกลือแร่ ถ้าอาการไม่ดีภายใน 1 ชั่วโมง ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

4.ผิวหนังไหม้แดด (Sunburn) ผู้ป่วยจะมีผิวหนังเป็นรอยแดง ปวดแสบร้อนเล็กน้อย โดยทั่วไปจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ห้ามเจาะตุ่มน้ำที่พอง ให้ประคบเย็น ทาโลชั่นเพื่อให้ความชุ่มชื้น หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี จะมีตุ่มพองน้ำใส ปวดรุนแรง ให้ไปพบแพทย์เช่นกัน

ที่มา : กรมควบคุมโรค

Friday 1 March 2013

ระวัง! โรคติดต่อที่อาจแพร่ระบาดข้ามพรมแดน

โรคติดต่อที่อาจแพร่ระบาดข้ามพรมแดน ได้แก่ 
1.โรคติดต่อจากคนสู่คนโดยตรง เช่น วัณโรค โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 
2.โรคติดต่อนำโดยแมลง เช่น โรคมาลาเรีย โรคเท้าช้าง 
3.โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน เช่น โรคโปลิโอ โรคคอตีบ โรคหัด
4.โรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคที่สำคัญอื่นๆเช่นโรคไข้หวัดนก โรคมือ เท้า ปาก โรคอุจจาระร่วง และโรคเรื้อน เป็นต้น

ที่มา : กรมควบคุมโรค

Monday 18 February 2013

6 อาการผิดปกติ ที่ไม่ธรรมดา


อายุรแพทย์จากโรงพยาบาลชั้นนำในสหรัฐฯ ต่างก็ยกให้ 6 อาการผิดปกติเหล่านี้อันตรายต่อสุขภาพ และไม่ควรเพิกเฉย เพราะจากแค่อาการผิดปกติเล็กน้อยที่ดูเหมือนไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้ามีอาการหนักขึ้นและเป็นเรื้อรังนานกว่าปกติ อาจหมายถึงการมาเยือนของโรคร้ายก็ได้

1.แค่นอนไม่หลับ อาจกลายเป็น โรคหัวใจ
เป็นอาการผิดปกติอันดับหนึ่งที่ควรบอกแพทย์ เพราะการนอนไม่หลับเพียงแค่ 1 คืนก็มีผลต่อหัวใจได้ ตั้งแต่การที่เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ จนถึงขั้นอาการหัวใจขาดเลือด หากมีอาการนอนไม่หลับอยู่บ่อยครั้งควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ในที่สุด

 2.แค่ท้องผูก อาจกลายเป็น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
อาการท้องผูก คือ การถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากปัจจัยบางอย่างขัดขวางการทำงานของลำไส้ ทำให้กากอาหารผ่านลำไส้ใหญ่ได้ช้าลง ซึ่งถ้ามีอาการท้องผูกเรื้อรัง (นานกว่า 3 สัปดาห์) ควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคคริดสีดวงทวารหนัก และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

3.แค่ปวดหัว อาจกลายเป็น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
ถ้ามีอาการปวดหัวที่ร่วมด้วยมีไข้ ปวดเมื่อยคอ คลื่นไส้อาเจียนติดต่อกันเป็นเวลานาน (2-3 วัน) ให้สันนิษฐานไว้ว่า ไม่ได้เป็นแค่อาการปวดหัวธรรมดาแน่นอน โดยเฉพาะอาการปวดหัวที่เพิ่มมากขึ้น แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด มีปัญหาเรื่องการมอง และมีอาการปวดต่อเนื่องนานกว่า 2-4 ชั่วโมงควรไปปรึกษาแพทย์ เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติของสมองที่ติดเชื้อที่ระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งเสี่ยงเป็นโรคหุ้มสมองอักเสบได้ในเวลาต่อมา

4.แค่ปวดฟัน อาจกลายเป็น ตาบอด
หากหลังจากไปถอนฟันแล้วคุณยังมีอาการปวดฟันอยู่ และมีอาการอื่นร่วมด้วยเช่น ปวดกราม ปวดหน้านานเกินกว่า 7 วันควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นไปได้ว่าเส้นประสาทบริเวณใบหน้ากดทับกันอยู่ และถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการอาจรุนแรงจนถึงข้นตาบอดได้

5. แค่ท้องเสีย อาจกลายเป็น ลำไส้อักเสบ
อาการท้องเสียติดต่อกันนานหลายวัน เป็นสัญญาณเตือนให้ระวังไว้ว่าร่างกายของคุณไม่ปกติอีกต่อไป อาจเป็นไปได้ว่าลำไส้ติดเชื้อปรสิต เป็นโรคโครนส์ (Crohn’s Disease) หรือลำไส้อุดตันบางส่วน มะเร็ง ตับอ่อนมีปัญหา ถุงน้ำดีมีปัญหา ดังนั้นเมื่อท้องเสียติดต่อกันนานเกิน 3 วันควรไปปรึกษาแพทย์ หลีกเลี่ยงการกินยาฆ่าเชื้อ เพราะส่วนประกอบบางชนิดในยาอาจฆ่าแบคทีเรียที่มีประโยชน์กับลำไส้ใหญ่ไปด้วย ซึ่งจะทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม

6.แค่กรดไหลย้อน อาจกลายเป็น มะเร็งหลอดอาหาร
กรดไหลย้อนอาจมีสาเหตุมาจากอาการแสบร้อนกลางอก ฟันผุ และโรคหวัด ซึ่งสาเหตุเหล่านี้มีผลโดยตรงต่อช่องท้องทุกครั้งที่มีการหายใจเข้าสู่ปอด และส่งผลให้เชื้อโรคกระจายติดไปทั่ว เนื่องจากการไหลย้อนของกรด ถ้ากระเพาะมีกรดมากอาจไหลล้นขึ้นมาถึงบริเวณหลอดอาหาร ทำให้มีผลต่อกล่องเสียง ลำคอ และปอดได้ หากมีอาการเรื้อรัง แต่ละเลยไม่ไปพบแพทย์อาจนำไปสู่โรคมะเร็งหลอดอาหารได้

Wednesday 13 February 2013

ระวัง! 6 โรค ที่มากับหน้าร้อน


6 โรค ที่มากับหน้าร้อน และพบได้บ่อย 

ช่วงนี้อากาศร้อนขึ้นทุกวัน ซึ่งจะเข้าสู่หน้าร้อนในไม่ช้า วันนี้จึงขอนำข้อมูล 6 โรค ที่มักมากับหน้าร้อน และพบได้บ่อยเป็นประจำทุกปี เเละเกี่ยวข้องกับสำนักฯที่ผมทำงานอยู่ถึง 5 โรคของ 2 กลุ่มงาน คือ กลุ่มโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ  เเละกลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์เเละคน มาให้รับทราบเพื่อป้องกันตนเองจากการเจ็บป่วย ดังนี้
          1.โรคอุจจาระร่วง (Acute Diarrhea) การติดต่อโรคดังกล่าว เกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่เชื้อมีปนเปื้อน เช่น อาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม หรืออาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านาน ๆ อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วย มักถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือมีมูกเลือดปน ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งการดูแลผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงในระยะแรก ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมาก ๆ อาทิ น้ำข้าว น้ำแกงจืด และดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และถ้าอาการไม่ดีขึ้น ยังไม่หยุดถ่ายเหลว ให้รีบไปพบแพทย์                    

          2. โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning)
 เป็นโรคทางเดินอาหารที่พบบ่อยมาก เนื่องจากสารพิษ (Toxin) จากแบคทีเรียตกค้างอยู่ในอาหารที่ไม่สะอาดพอ สุก ๆ ดิบ ๆ หรือบูดเสีย ทำให้เกิดปัญหาท้องเสียได้ สำหรับการรักษาส่วนใหญ่หากเป็นไม่มาก จะถ่ายเป็นน้ำไม่มีมูกเลือด ไม่มีไข้ หายได้เอง แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม อาจอยู่ในรูปแบบของการดื่ม หรือการให้ทางเส้นเลือดแล้วแต่ความรุนแรง

          3.โรคบิด (Dysentery) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทาน เช่น การรับประทานอาหาร น้ำ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาหารดิบ ๆ สุก ๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม ดังนั้นไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ เพศไหน วัยใดก็สามารถเป็น โรคบิด ได้ทั้งนั้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดบิดในท้อง ต่อมาจะเริ่มไข้ขึ้น และถ่ายเหลว รวมถึงอาจปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งอาการท้องเดินเป็นบิด จะหายได้เองภายใน 5-7 วัน ในคนที่ไม่ได้ทานยา แต่บางรายก็อาจมีอาการกลับมาใหม่ได้อีก

           4.ไทฟอยด์ (Typhoid) การติดต่อมักเกิดจากการปนเปื้อนของเชื้อในอาหารหรือน้ำดื่ม ซึ่งไข้ไทฟอยด์จะมีอาการแบบเฉียบพลัน รายที่เป็นรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ อาการของโรคจะมีไข้ ปวดเนื้อปวดตัว คลื่นไส้ หัวใจเต้นช้าลง (โดยทั่วไปแล้วเวลามีไข้จะเต้นเร็วขึ้น) หากให้แพทย์ตรวจอาจพบว่าม้ามโต บริเวณใต้ชายโครงด้านซ้าย ต้องใช้การตรวจเลือดยืนยันว่าเป็นโรคนี้จริง ส่วนการป้องกันสามารถทำได้โดยการใช้วัคซีน ซึ่งมีทั้งในรูปของการรับประทานหรือฉีด แต่การป้องกันไม่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังเรื่องอาหารและน้ำดื่ม

           5.อหิวาตกโรค (Cholera) โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้ออหิวาต์ จะไม่มีอาการหรือมีไม่มาก แต่ในรายที่ติดเชื้อรุนแรง อาจเสียชีวิตได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดอาการ เนื่องจากมีการสูญเสียของน้ำและเกลือแร่ในปริมาณมาก โรคนี้ติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อเข้าไป การรักษาควรทดแทนน้ำและเกลือแร่ที่สูญเสียไป กับการถ่ายอุจจาระและการอาเจียน เช่น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเกลือ แต่หากรุนแรงต้องให้ทางเส้นเลือด ควบคู่กับการใช้ยาปฏิชีวนะ

           6.โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคติดต่อร้ายแรงจากสัตว์สู่คน ไม่มียารักษาให้หายขาดได้ เพราะโรคดังกล่าวติดต่อจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีแผลอยู่แล้ว หรือน้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้าตา ปาก จมูก ทั้งนี้ วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดก็คือ ให้นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าปีละครั้ง เริ่มฉีดเมื่ออายุ 2-4 เดือน และหากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือข่วน ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง เช็ดให้แห้ง แล้วใส่ยารักษาแผลสด และรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง  

ที่มา : กรมควบคุมโรค

Tuesday 22 January 2013

กลุ่มโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่เสี่ยงระบาดในไทย

โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่มีความเสี่ยงในประเทศไทย แบ่งได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ 

กลุ่มที่ 1 โรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำที่พบในประเทศไทย ได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคไข้หวัดใหญ่ โรคมือ เท้า ปาก โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2012 โรคลีเจียนแนร์ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคไข้กาฬหลังแอ่นจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่อาจเข้ามากับแรงงานต่างด้าว 

กลุ่มที่ 2 โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น โรคไข้เหลือง โรคลิชมาเนียสิส โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคไข้เวสต์ไนล์ โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา-มาร์บวร์ก โรคสมองฝ่อวาเรียนท์ที่เกิดจากโรคสมองฝ่อในวัว หรือโรควัวบ้า และโรคที่อาจเข้ามากับสัตว์ เช่น โรคฝีดาษลิง และโรคติดเชื้อจากการใช้อาวุธชีวภาพ เช่น โรคแอนแทรกซ์ ไข้ทรพิษ กาฬโรค 

และกลุ่มที่ 3 โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น โรคที่เกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคจากเชื้อดื้อยาชนิดใหม่ เป็นต้น

ที่มา : กรมควบคุมโรค