Thursday 18 October 2012

ระวัง 6 โรคอันตราย ที่มากับฤดูหนาว

 1.โรคไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ อาการจะเริ่มด้วยการมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ เมื่อเริ่มมีอาการควรนอนพักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำบ่อย ๆ ถ้าตัวร้อนมากควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดตัว หรือกินยาลดไข้ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 2-7 วัน แต่หากมีอาการไอมากขึ้น หรือมีไข้สูงนานเกิน 2 วัน ควรไปพบแพทย์

 2.โรคปอดบวม จะมีอาการโดยทั่วไปได้แก่ ไอ เจ็บหน้าอก มีไข้สูง และหายใจหอบ การวินิจฉัยจะกระทำโดยการฉายรังสีเอกซ์และการตรวจเสมหะ ซึ่งหากมีความรุนแรง ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมทั้งเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อย เด็กขาดสารอาหาร เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจ เป็นต้น


3.โรคหัด มักเกิดในเด็กโตและวัยรุ่น อาการจะเริ่มจากมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง และจะมีผื่นขึ้นภาย หลังมีไข้ประมาณ 4 วัน จากนั้น ผื่นจะกระจายทั่วตัว โดยผื่นจะจางหายไปภายใน 2 สัปดาห์ เด็กที่ป่วยเป็นหัด ให้แยกออกจากเด็กอื่น ๆ ประมาณ 1 สัปดาห์


4.โรคหัดเยอรมัน เป็นได้ทั้งผู้ใหญ่ และเด็กเล็ก มีอาการไข้ ออกผื่นคล้ายโรคหัด บางรายอาจไม่มีผื่นขึ้น หากเป็นหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ ดังนั้น ควรพบแพทย์ และหยุดงาน หรือหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์


5.โรคอีสุกอีใส มักจะเกิดในเด็ก เมื่อเป็นโรคนี้แล้ว จะมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต อาการจะเริ่มด้วยไข้ต่ำ ๆ ต่อมา จะมีผื่นขึ้นที่หนังศีรษะ หน้า ตามตัว โดยเริ่มเป็นผื่นแดง ตุ่มนูน แล้วเปลี่ยนเป็นตุ่มพองใสหลังมีไข้ 2-3 วัน จากนั้น ตุ่มจะเป็นหนอง และแห้งตกสะเก็ดหลุดออกเองประมาณ 5-20 วัน เด็กนักเรียนที่ป่วยควรหยุดเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ เด็กเล็กที่ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการอักเสบจากการเกาที่ผื่น


6.โรคอุจจาระร่วง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า โรต้าไวรัส มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ติดต่อโดยการดื่มน้ำ หรือกินอาหารที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนเข้าไป โดยเด็กจะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือถ่ายเหลวบ่อยครั้ง โดยทั่วไปอาการไม่รุนแรง แต่เด็กบางคนอาจขาดน้ำรุนแรง หากมีเด็กในบ้านถ่ายเหลว ควรให้กินอาหารเหลวบ่อย ๆ เช่น น้ำข้าวต้ม น้ำแกงจืด ให้ดื่มนมแม่ สำหรับเด็กที่ดื่มนมผสม ควรผสมนมให้เจือจางลงครึ่งหนึ่งจนกว่าอาการจะดีขึ้น หากยังถ่ายบ่อยให้ผสมสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ให้ดื่มบ่อย ๆ อาการจะกลับเป็นปกติได้ภายใน 8-12 ชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที


ที่มา : กรมควบคุมโรค


โหลดเอกสาร Download

Friday 5 October 2012

ประวัติ สำนักโรคติตด่อทั่วไป กรมควบคุมโรค

      นานเเล้วที่ไม่ได้เข้ามาเขียนบล๊อก เมื่อวาน (4 ตุลาคม 55)ได้ประชุมคณะจัดทำ รายงานประจำปี 2555 ของสำนักฯ ที่มีผมเป็นคณะทำงานเเละผู้ช่วยเลขานุการ ในการจัดทำ จึงนึกขึ้นได้ว่าในรายงานประจำปี 2554 ที่จัดพิมพ์เผยเเพร่เป็นที่เรียบร้อยเเล้วนั้น มีประวัติความเป็นมาของสำนักฯ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อ ข้าราชการรุ่นใหม่ๆที่บรรจุที่สำนักฯ เพื่อจะได้ทราบความเป็นมาของสำนักฯ รวมถึงผู้สนใจในความเป็นมาของสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เพราะจากการค้นหาข้อมูลประวัติความเป็นมาของสำนักฯ ตอนจัดทำรายงานประจำปี 2554 ทั้งเอกสาร และทางอินเตอร์เน็ทนั้น  เเทบไม่มีข้อมูลเลย จึงนำข้อความบางส่วนของรายงานมาเผยเเพร่ดังนี้ครับ

 

ประวัติความเป็นมาสำนักโรคติดต่อทั่วไป

การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อนั้น ในชั้นต้นเป็นหน้าที่ของ “กองแพทย์”  กรมพยาบาล  กระทรวงธรรมการ   ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2432 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อกรมและกองหลายคราวและให้ขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรีได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมการสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล และกรมประชาภิบาล กระทรวงมหาดไทย ตั้งเป็น “กรมสาธารณสุข” สังกัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ. ศ. 2461 (ปัจจุบันถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข) โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นชัยนาทนเรนทร (พระยศในขณะนั้นของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร) ดำรงตำแหน่งอธิบดี   เมื่อได้ตั้งกรมสาธารณสุขขึ้นในกระทรวงมหาดไทยแล้ว การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อก็เป็นหน้าที่ของแผนกอำนวยการ “กองสาธารณสุข” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กองสุขภาพ 
และใน พ.ศ. 2472   ได้แยกมาตั้งกองใหม่ ทำหน้าที่ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อโดยเฉพาะเรียกว่า กองโรคติดต่อ และยังคงขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย
ต่อมาใน พ.ศ. 2485 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการแพทย์และการสาธารณสุขให้เป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นและพิจารณาว่างานด้านการแพทย์และสาธารณสุขมีความซ้ำซ้อนและกระจายอยู่ในกระทรวงและกรมหลายแห่ง จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดการปรับปรุงเพื่อรวบรวมกิจการแพทย์ และสาธารณสุข (ยกเว้นการแพทย์ของทหาร ตำรวจและการรถไฟ) และมีมติให้ตั้งกระทรวงการสาธารณสุข เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ. ศ. 2485 และประกาศใช้พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ( ฉบับที่ 3) พ. ศ. 2485 โดยหน่วยงานในกระทรวงการสาธารณสุข ประกอบด้วย
  • สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
  • สำนักงานปลัดกระทรวง
  • กรมการแพทย์
  • กรมประชาสงเคราะห์
  • กรมมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
  • กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
  • กรมสาธารณสุข   
ในพ.ศ. 2485กองโรคติดต่อ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองควบคุมโรคติดต่อ สังกัดกรมสาธารณสุข  สิบปีต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2495 ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 69 ตอนที่ 16 วันที่ 11 มีนาคม 2495 โดยเปลี่ยนชื่อจาก กระทรวงการสาธารณสุขเป็น กระทรวงสาธารณสุข และกรมสาธารณสุขเป็น กรมอนามัย  
ต่อมาคณะปฏิวัติได้มีประกาศฉบับที่ 216 และ 218 เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ. ศ. 2515 ให้รวมงานของกรมการแพทย์ งานบางส่วนของกรมอนามัย และงานบางส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป็น กรมการแพทย์และอนามัย โดยกองควบคุมโรคติดต่อได้อยู่ในสังกัดกรมนี้ 
ต่อมาใน พ.ศ. 2516 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแบ่ง กรมการแพทย์และอนามัย ออกเป็น 2 กรม คือ กรมการแพทย์ และ กรมอนามัย 
ในพ.ศ.  2517  ได้มีการปรับปรุงรูปแบบการบริหารและโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง กรมควบคุมโรคติดต่อ ได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 มีฐานะเป็นกรมวิชาการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อด้านวิชาการและบริการที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญพิเศษในด้านต่างๆ เพื่อให้โรคติดต่อที่เป็นปัญหาของประเทศลดลง  กองควบคุมโรคติดต่อจึงได้เปลี่ยนมาสังกัดกรมควบคุมโรคติดต่อและได้เปลี่ยนชื่อเป็น กองโรคติดต่อทั่วไป
ในการที่จะดำเนินการป้องกันควบคุมโรคติดต่อให้ได้ผลดีจำเป็นต้องมีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ ในอันที่จะบังคับให้เจ้าบ้านแจ้งความเมื่อมีผู้ป่วยด้วยโรคติดต่อที่กำหนดว่าเป็นโรคที่ต้องแจ้งความแยกผู้ป่วยไปไว้เอกเทศ ปลูกฝี ฉีดวัคซีน  กักกันผู้ต้องสงสัยว่าป่วย ทำความสะอาดบ้านเรือน รื้อถอนจนกระทั่งทำลายสิ่งก่อสร้างที่ผิดสุขลักษณะ สำหรับการดำเนินการป้องกันโรคติดต่อจากต่างประเทศนั้น ได้เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. 2461   “กองโรคติดต่อทั่วไป” เป็นกองวิชาการ  มีหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานควบคุมโรคติดต่อต่าง ๆ โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีหน้าที่รับผิดชอบปฏิบัติงานตามแนวทางที่กองกำหนดไว้ ยกเว้นโรคซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของกองเฉพาะโรคนั้นๆ คือ วัณโรค กามโรค โรคเรื้อน ไข้มาลาเรียและโรคเท้าช้าง

การแบ่งส่วนราชการของกองโรคติดต่อทั่วไป   ได้เปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ ดังนี้         
ระหว่าง  พ.ศ. 2504 2515 กองควบคุมโรคติดต่อ สังกัดกรมอนามัย 
ส่วนกลางแบ่งเป็น  6  แผนก คือ
                 1.  แผนกโรคติดต่ออันตราย
                 2.  แผนกระบาดวิทยา
                 3.  แผนกค่ายกักโรค
                 4.  แผนกโรคสัตว์ติดคน
                 5.  แผนกควบคุมโรคพยาธิลำไส้
                 6.  แผนกโรงพยาบาลบำราศนราดูร
ส่วนภูมิภาค  แบ่งเป็น  5  หน่วย คือ
                 1.  หน่วยควบคุมกาฬโรคภาคเหนือ
                 2.  หน่วยควบคุมกาฬโรคภาคกลาง 
                 3.  หน่วยควบคุมกาฬโรคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
                 4.  หน่วยควบคุมกาฬโรคภาคใต้
                 5.  หน่วยควบคุมโรคพยาธิลำไส้จังหวัดอุบลราชธานี

ระหว่าง  พ.ศ. 2516 2517 กองควบคุมโรคติดต่อ สังกัดกรมการแพทย์และอนามัย 
         ส่วนกลางแบ่งเป็น  9  งาน  คือ
                 1.  งานธุรการบริหาร
                 2.  งานโรคติดต่อไวรัส ริคเกตเซีย
                 3.  งานโรคติดต่อแบคทีเรีย
                 4.  งานโรคติดต่อโปรโตซัว ฟังกัส
                 5.  งานโรคติดต่อเฮลมินท์
                 6.  งานโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน
                 7.  งานโรคติดต่อระหว่างประเทศ
                 8.  งานชันสูตรโรค
                 9.  งานวางแผนวิจัยและเผยแพร่

         ส่วนภูมิภาคแบ่งเป็นศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ  3  ภาค  คือ
                 1.  ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อภาคเหนือ
                 2.  ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อภาคกลาง
                 3.  ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ระหว่าง พ.ศ. 2517 2530 กองโรคติดต่อทั่วไป สังกัดกรมควบคุมโรคติดต่อ มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง  ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยในระยะแรก 
         ส่วนกลางแบ่งเป็น  9  ฝ่าย  คือ
                 1.  ฝ่ายบริหารทั่วไป
                 2.  ฝ่ายเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์
                 3.  ฝ่ายโรคติดต่อแบคทีเรีย
                 4.  ฝ่ายโรคติดต่อไวรัสและริคเกตเซีย
                 5.  ฝ่ายโรคหนอนพยาธิ
                 6.  ฝ่ายโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน
                 7.  ฝ่ายชันสูตรโรค
                 8.  ฝ่ายอบรมนิเทศและประเมินผล
                 9.  ฝ่ายโรคติดต่อระหว่างประเทศ
         ส่วนภูมิภาคแบ่งเป็นศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ  4  ภาค คือ
                 1.  ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อภาคเหนือ
                 2.  ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อภาคกลาง
                 3.  ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
                 4.  ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อภาคใต้
ในระยะต่อมามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างโดย
          ส่วนกลางแบ่งเป็น  11  ฝ่าย  คือ
                 1.  ฝ่ายบริหารงานทั่วไป
                 2.  ฝ่ายเวชภัณฑ์
                 3.  ฝ่ายโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน
                 4.  ฝ่ายโรคติดต่อที่นำโดยแมลง
                 5.  ฝ่ายระบาดวิทยา
                 6.  ฝ่ายโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ
                 7.  ฝ่ายโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
                 8.  ฝ่ายโรคหนอนพยาธิ
                 9.  ฝ่ายเผยแพร่และอบรม
                 10. ฝ่ายแผนงานและประเมินผล
                 11. ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ
         ส่วนภูมิภาคแบ่งเป็นศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต (ศตข.) 12 เขต คือ
1.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 1 กรุงเทพฯ
2.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 2 สระบุรี
3.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 3 ชลบุรี
4.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 4 ราชบุรี
5.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 5 นครราชสีมา
6.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 6 ขอนแก่น
7.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 7 อุบลราชธานี
8.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 8 นครสวรรค์
9.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 9 พิษณุโลก
10.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 10 เชียงใหม่
11.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 11 นครศรีธรรมราช
12.    ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขต 12 สงขลา

ใน พ.ศ. 2530 กรมควบคุมโรคติดต่อโดยความเห็นชอบของสำนักงาน ก.พ. ได้จัดตั้งสำนักงานควบคุมโรคติดต่อ (สคต.) จำนวน 12 เขต โดยมีฐานะเทียบเท่ากับกอง ขึ้นตรงต่อกรมควบคุมโรคติดต่อ  เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนกรมควบคุมโรคติดต่อในส่วนภูมิภาค เพื่อให้การป้องกันควบคุมโรคติดต่อบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ และได้ให้ศูนย์โรคติดต่อทั่วไปเขตทั้ง 12 เขต เข้าไปสังกัดอยู่กับสำนักงานควบคุมโรคติดต่อ กองโรคติดต่อทั่วไปจึงไม่มีหน่วยงานในส่วนภูมิภาคตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากนั้น โครงสร้างของกองโรคติดต่อทั่วไปมีการปรับเปลี่ยนชื่อ (กลุ่ม/กลุ่มงาน/ฝ่าย) และบทบาทหน้าที่เป็นการภายในอีกหลายครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายและภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกรมควบคุมโรคติดต่อ 
ต่อมาใน พ.ศ. 2545 เมื่อรัฐบาลปฏิรูประบบราชการ กรมควบคุมโรคติดต่อ เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมควบคุมโรค” และกองโรคติดต่อทั่วไปเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักโรคติดต่อทั่วไป” 

ใน พ.ศ. 2554 สำนักโรคติดต่อทั่วไป สังกัดกรมควบคุมโรค แบ่งหน่วยงานภายในเป็น 9 กลุ่ม 2 ด่าน 1 ศูนย์ และ 2 ที่ทำการแพทย์ตรวจคนเข้าเมือง ดังนี้
                 1.  กลุ่มพัฒนาวิชาการที่ 1 (รับผิดชอบโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ และโรคหนอนพยาธิ)
                 2.  กลุ่มพัฒนาวิชาการที่ 2 (รับผิดชอบโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก)
                 3.  กลุ่มพัฒนาวิชาการที่ 3 (รับผิดชอบโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน)
                 4.  กลุ่มพัฒนาวิชาการที่ 4 (รับผิดชอบโรคติดต่อระหว่างประเทศ)
                 5.  กลุ่มยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร
                 6.  กลุ่มพัฒนาภาคีเครือข่ายและการสื่อสารสาธารณะ
                 7.  กลุ่มบริหารทั่วไป
                 8.  กลุ่มบริหารเวชภัณฑ์
                 9.  กลุ่มปฏิบัติการเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข
                 10. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
                 11. ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือกรุงเทพฯ
                 12. ศูนย์ประสานงานโครงการกวาดล้างโปลิโอและโรคหัดตามพันธะสัญญานานาชาติ
                 13. ที่ทำการแพทย์ตรวจคนเข้าเมือง แจ้งวัฒนะ
                 14. ที่ทำการแพทย์ตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู

เรียบเรียงโดย : ดร.สีวิกา  แสงธาราทิพย์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ
ตรวจทานโดย : นางโศภาพรรณ  วิมลรัตน์  นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ