Wednesday 15 February 2012

ความคาดหวังและการรับรู้ (Expectations and Perceptions)

ความคาดหวังและการรับรู้ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่มีต่อการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคของสำนักโรคติดต่อทั่วไป ปี 2555

ปิยพงษ์ กัณทะกาลัง วท.ม., สุพินดา ตีระรัตน์ วท.ม., สุนันทา สีโท สค.ม., สุดธิดา แสงยนต์ วท.ม.,ศรัญญา พันธุ์คุณ วท.บ.
สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค
           
            การสำรวจความคาดหวังและการรับรู้ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่มีต่อการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคของสำนักโรคติดต่อทั่วไป มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคาดหวังและการรับรู้ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่มีต่อการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคของสำนักโรคติดต่อทั่วไป เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บข้อมูลระหว่างเดือน ธันวาคม 2554 – มกราคม 2555 โดยการเลือกกลุ่มตัวอย่างเจาะจง (Purposive Sampling) กลุ่มตัวอย่าง คือ บุคลากรของสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 1-12 จำนวน 112 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าความถี่ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ค่าความแปรปรวนแบบทางเดียว (One-Way ANOVA)
ผลการสำรวจพบว่า
 1.  ความคาดหวังของบุคลากรสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ต่อการดำเนินงานของสำนักโรคติดต่อทั่วไปอยู่ใน ระดับมากที่สุด เฉลี่ย 4.28 (S.D. 077) โดยมีระดับความคาดหวังมากที่สุด ในเรื่อง บุคลากรของสำนักฯ มีความเชี่ยวชาญในงานป้องกันควบคุมโรคติดต่อทั่วไป ค่าเฉลี่ยของความคาดหวังเท่ากับ 4.48 (S.D. 0.65) ส่วนระดับความคาดหวังต่อสำนักฯน้อยที่สุด คือ การติดตามประเมินผลการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคระดับประเทศ ในเรื่อง ทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วค่าเฉลี่ยความคาดหวังเท่ากับ 4(S.D. 0.63)
2. การรับรู้ของบุคลากรสำนักงานป้องกันควบคุมโรค ต่อการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค ของสำนักโรคติดต่อทั่วไปอยู่ใน ระดับปานกลาง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.24 (S.D. 0.93) โดยมีระดับการรับรู้มากที่สุด เรื่อง ระบบส่งกำลังบำรุง (Logistics) ในการเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ค่าเฉลี่ยของการรับรู้เท่ากับ 3.63 (S.D 0.87) สำหรับเรื่องที่น้อยที่สุด คือ การติดตามประเมินผลการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคระดับประเทศ เรื่อง โรคหนอนพยาธิ ค่าเฉลี่ยของการรับรู้เท่ากับ 2.94 (S.D. 0.95)
3. ความแตกต่างระหว่างความคาดหวังและการรับรู้ของบุคลากรสำนักงานป้องกันควบคุมโรคต่อการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคของสำนักโรคติดต่อทั่วไป พบว่าในภาพรวมกลุ่มตัวอย่างมี ระดับการรับรู้ต่ำกว่าระดับความคาดหวังที่มีต่อดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคของสำนักโรคติดต่อทั่วไป ค่าคะแนนความแตกต่างเฉลี่ย เท่ากับ 0.98 (S.D. 1) โดยเรื่องที่มีค่าเฉลี่ยแตกต่างมากที่สุด คือ ผลผลิตทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อสำนักงานป้องกันควบคุมโรคในการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคติดต่อทั่วไป เรื่อง ข่าวกรอง ซึ่งมีค่าความแตกต่างเฉลี่ย เท่ากับ 1.27 (S.D. 1.05) ส่วนค่าเฉลี่ยที่มีความแตกต่างระหว่างการรับรู้และความคาดหวังน้อยที่สุด คือเรื่อง ระบบส่งกำลังบำรุง (Logistics) ในการเตรียมพร้อมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ซึ่งมีค่าความแตกต่างเฉลี่ย เท่ากับ 0.76 (S.D. 0.94) เมื่อจำแนกความคาดหวังและการรับรู้ของผู้ปฏิบัติของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคแต่ละกลุ่มงาน พบว่าไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ
จากผลการศึกษาดังกล่าว จะเห็นว่าการรับรู้ของสำนักงานป้องกันควบคุมโรคต่อการดำเนินงานของสำนักโรคติดต่อทั่วไป เป็นที่ประจักษ์ในด้านการบริหารจัดการระบบส่งกำลังบำรุงเพื่อเตรียมตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ในขณะที่ความเชี่ยวชาญของบุคลากรสำนักโรคติดต่อทั่วไปในงานป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อทั่วไป เป็นเรื่องที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรค คาดหวังมากที่สุด สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ การบริหารทรัพยากรบุคลากรของสำนักโรคติดต่อทั่วไป พ.ศ.2555-2559 ซึ่งมุ่งพัฒนาบุคลากรให้เป็นมืออาชีพ ด้านการป้องกันควบคุมโรคติดต่อ และทิศทางการพัฒนาแผนงานควบคุมโรคระดับชาติ (National Disease Control Program)

No comments:

Post a Comment

เชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่างๆได้นะครับ