Wednesday 30 June 2010

แนวคิดเกี่ยวกับจิตวิทยาพัฒนาการ (Concepts of Developmental Psychology)

จิตวิทยาพัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัยของมนุษย์เป็นศาสตร์ที่มีความสลับซับซ้อน จากการที่ต้องศึกษาการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ในลักษณะองค์รวม ทั้งที่สามารถมองเห็นได้ง่าย ชัดเจน และมองเห็นได้ยาก ไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ในเรื่องจิตวิทยาพัฒนาการถือเป็นเรื่องสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษา ช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความรู้ ความเข้าใจลักษณะธรรมชาติของมนุษย์ ลำดับขั้นพัฒนาการชีวิตในช่วงวัยต่าง ๆ ตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต และทราบถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย ส่งผลให้ผู้ศึกษาเกิดการยอมรับ เข้าใจตนเองและผู้อื่น เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถปรับตัวให้เข้ากับบุคคลในวัยต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถช่วยเหลือบุคคลวัยต่าง ๆ ในแนวทางที่เหมาะสมยิ่งขึ้น
 ลักษณะทั่วไปของจิตวิทยาพัฒนาการ
จิตวิทยาพัฒนาการ (development psychology) เป็นจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่มุ่งศึกษามนุษย์ทุก วัยตั้งแต่ปฏิสนธิจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านการเจริญเติบโตทางร่างกาย ความคิด อารมณ์ ความรู้สึก เจตคติ พฤติกรรมการแสดงออก สังคม บุคลิกภาพ ตลอดจนสติปัญญาของบุคคลในวัยต่างกัน เพื่อให้ทราบถึงลักษณะพื้นฐาน ความเป็นมา จุดเปลี่ยน จุดวิกฤตในแต่ละวัย กล่าวคือช่วยให้ทราบถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงของบุคคลในวัยต่าง ๆ กัน จิตวิทยาพัฒนาการจึงถือเป็นรากฐานของจิตวิทยาแขนงอื่น ๆ
การศึกษาจิตวิทยาพัฒนาการของมนุษย์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจบุคคลในลักษณะองค์รวมทั้งที่เป็นส่วนบุคคลและการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มสังคม เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรมปัญหา เข้าใจถึงระดับสติปัญญา ลักษณะอารมณ์ ความต้องการของบุคคลแต่ละวัย นอกจากนี้การเข้าใจธรรมชาติของบุคคลแต่ละวัยช่วยให้เกิดการประสานงานกันอย่างราบรื่น และช่วยให้บุคคลปรับตัวเข้ากันได้ดีขึ้น
 ความหมายของพัฒนาการ นักวิชาการหลายท่านให้ความหมายของคำว่าพัฒนาการ (development) ดังนี้
สุชา จันทร์เอม (2540 : 1) กล่าวว่าพัฒนาการ หมายถึง ลำดับของการเปลี่ยนแปลงหรือกระบวนการเปลี่ยนแปลง (process of change) ของมนุษย์ทุกส่วนที่ต่อเนื่องกันไปในระยะเวลาหนึ่ง ๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต การเปลี่ยนแปลงนี้จะก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ เป็นขั้น ๆ จากระยะหนึ่งไปสู่อีกระยะหนึ่งเพื่อที่จะไปสู่วุฒิภาวะ ทำให้มีลักษณะและความสามารถใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งมีผลทำให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นตามลำดับ
ทิพย์ภา เชษฐ์เชาวลิต (2541 : 1) ได้ให้คำจำกัดความของพัฒนาการว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผน มีขั้นตอน เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านเจริญเติบโตงอกงามและถดถอย และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลรวมของวุฒิภาวะและประสบการณ์
ศรีเรือน แก้วกังวาล (2540 : 21) กล่าวว่าพัฒนาการเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทั้งที่สังเกตได้ง่าย ชัดเจน และมองเห็นได้ยาก ไม่ชัดเจน ตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต
จากความหมายดังกล่าวสรุปได้ว่า พัฒนาการเป็นกระบวนการพัฒนาของมนุษย์ในทุก ๆ ด้านของชีวิตตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิตจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องทั้งในลักษณะของการเจริญงอกงามและการถดถอย ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่ได้รับ ซึ่งนำไปสู่ความมีวุฒิภาวะ
 จุดมุ่งหมายของการศึกษาพัฒนาการของมนุษย์
1. เพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการที่จะเข้าใจลักษณะของพัฒนาการในระยะเวลาต่างๆว่าเป็นอย่างไร และจะมีส่วนช่วยในการแก้ไขและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น ตามความเหมาะสมของแต่ละอายุ ทั้งนี้เพราะว่า ในการที่เราจะเข้าใจลักษณะต่างๆ ได้นั้นจะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างช่วยกัน เช่น ประสบการณ์ในชีวิต การได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับบุคคลต่างๆ
2. เพื่อให้สามารปรับตัวให้เข้ากับความยากลำบากของการพัฒนาการในแต่ละช่วงอายุว่ามีความแตกต่างกันได้เป็นอย่างดี เช่น ในวัยชรา คนชราจะได้รับอิทธิพลและปัญหาต่างๆ หล่อหลอมบุคลิกภาพ ความรู้สึกนึกคิด มาตั้งแต่แรกเกิด ดังนั้นประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับนั้นจะแตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญยิ่ง คือ ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับตจะเป็นตัวหล่อหลอมให้บุคคลนั้นมีบุคลิกภาพและความเป็นเอกลักษณ์เป็นของตนเองและจะไม่เหมือนบุคคลอื่น ซึ่งจัดว่าการที่บุคคลมีการยอมรับและเข้าใจตนเอง(Self actualization) นั้นย่อมมีความแตกต่างกัน
ด้วยเหตุนี้จุดมุ่งหมายของการศึกษาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ จึงมีจุดมุ่งหมายที่สอดคล้องกับหลักการทางวิทยาศาสตร์อื่นๆนั่นคือ
1. เพื่อการบรรยาย (Description) ในการบรรยายนี้จะเป็นการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อให้สามารถที่จะบอกเล่ากันต่อๆไปได้ อันเป็นความรู้ และเพื่อจะได้นำเอาความรู้นั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป ซึ่งลักษณะดังกล่าว จะเป็นการบอกเล่าว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน
2. เพื่อการอธิบาย (Explanation)เพื่อเป็นการเสาะแสวงหาความรู้และเข้าใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อันสามารถอธิบายปรากฏการณ์ในสิ่งที่เราไม่รู้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามอธิบาย หรือให้ความกระจ่างว่า ปรากฏการณ์นั้นเกิดได้อย่างไร มีอะไรเป็นสาเหตุ ผลที่ตามมาควรจะประกอบด้วยสิ่งใดบ้าง
3. เพื่อการทำนาย (Prediction)เป็นการพยากรณ์ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งกว่าการอธิบาย ทั้งนี้เพราะ การทำนายนั้นจะเป็นการทำนายเพื่อต้องการอธิบายในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น อันเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าว่า เมื่อไหร่จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วผลจะเป็นอย่างไร เวลาไหน ซึ่งการที่เราสามารถทำนายได้นี้นับว่ามีประโยชน์ต่อมนุษย์เป็นอันมาก
4. เพื่อการควบคุม (Control) เป็นการที่ผู้รู้จะสามารถนำเอาความรู้นั้นไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดโดยการปรับปรุงธรรมชาติ สภาพทางสังคม และบุคคลให้อยู่ในตามแนวทางที่ตนปรารถนา การควบคุมดังกล่าวจึงนับว่ามีความสำคัญไม่น้อย




ที่มา อาจารย์อาภากร เปรี้ยวนิ่ม เอกสารประกอบการสอน วิชา จิตวิทยาพัฒนาการ

No comments:

Post a Comment

เชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่างๆได้นะครับ