Wednesday 30 June 2010

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการ (Basic Forces in Human Development)


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการ
(Basic  Forces  in  Human  Development)

คำจำกัดความ  
                ความหมายของจิตวิทยา  พัฒนาการ  และจิตวิทยาพัฒนาการ  (Lefrancois, 1996, p. 8)
                Psychology  (จิตวิทยาคือศาสตร์สาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์
                Developmental (พัฒนาการ) หมายถึง การเจริญเติบโต (Growth) คือการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย  การมีวุฒิภาวะ (Maturation)  คือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้บุคคลมีความสามารถพอที่จะกระทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างเหมาะสมในแต่ละวัย และการเรียนรู้ (Learning) คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์
                Developmental psychology (จิตวิทยาพัฒนาการ) คือสาขาหนึ่งของจิตวิทยาที่ศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลง กระบวนการเปลี่ยนแปลง และอิทธิพลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในพัฒนาการของมนุษย์ 
ระยะพัฒนาการ 
                พัฒนาการของมนุษย์แบ่งตามช่วงอายุได้เป็น 8 ระยะ  ดังนี้ (สุชา จันทน์เอม, 2536, . 2-3)
                ระยะก่อนเกิด ( Prenatal  stage )  คือตั้งแต่เริ่มปฏิสนธิจนถึงระยะคลอด
1.      วัยทารก   เริ่มตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ  2  ปี
2.      วัยเด็ก   เริ่มตั้งแต่อายุ  2 – 12  ปี
3.      วัยย่างเข้าสู่วัยรุ่น  ปกติหญิงเฉลี่ยมีอายุ  12  ปี  ชายเฉลี่ยมีอายุ  14  ปี
4.      วัยรุ่น  ตั้งแต่อายุ  14 – 21  ปี
5.      วัยผู้ใหญ่  ตั้งแต่อายุ  21 – 40  ปี
6.      วัยกลางคน  ตั้งแต่อายุ  40 – 60  ปี
7.      วัยสูงอายุ  ตั้งแต่อายุ  60  ปีขึ้นไป
ในทุกช่วงอายุมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย  ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายของมนุษย์  การที่อวัยวะมีการเจริญเติบโต  มีการพัฒนาโครงสร้าง  และหน้าที่ต่าง ๆ ของอวัยวะเหล่านั้นแล้ว  ยังมีปัจจัยอื่นที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกันทั้งรูปร่าง  หน้าตา  ความรู้สึกนึกคิด  และพฤติกรรมที่แสดงออก  
 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการ (Basic  Forces  in  Human  Development)
บุคคลแต่ละคนมีความแตกต่างกันทั้งด้านการเจริญเติบโตของร่างกาย การมีวุฒิภาวะในแต่ละวัยและการเรียนรู้   ส่งผลให้บุคคลมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน  ซึ่งความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัย  4  ประการ  ดังนี้ (Kall  and  Cavanaugh,1996 ; สุชา จันทน์เอม, 2536 ; ศรีเรือน แก้วกังวาล, 2538)
1. ปัจจัยด้านชีวภาพ  (Biological Forces) ปัจจัยทางชีวภาพที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่ในระยะก่อนคลอดคือ   พันธุกรรมและปัจจัยที่สัมพันธ์กับสุขภาพ
       1.1  พันธุกรรม (Genetic)  คือการถ่ายทอดลักษณะต่างๆ  จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่งในครอบครัวเดียวกัน  หรือในเชื้อสายเดียวกัน  เช่น  สีของนัยน์ตา   สีผม    ลักษณะรูปร่างหน้าตา  รวมถึงความผิดปกติหรือโรคต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม  เช่น  ตาบอดสี  โรคธาลัสซีเมีย  เป็นต้น
       1.2  ปัจจัยที่สัมพันธ์กับสุขภาพ (Health - Related  factors)  โดยเฉพาะสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่มีผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์มารดาเช่นพบความผิดปกติของสมองของทารกในครรภ์มารดาที่เรียกว่าคูรู (Kuru) ในประชากรของหมู่เกาะแห่งหนึ่งในมหาสมุทรแปซิฟิคตอนใต้  การใช้ยาของมารดาขณะตั้งครรภ์ที่มีผลต่อทารก การติดเชื้อโรคของมารดาขณะตั้งครรภ์  เช่น  เชื้อไวรัสหัดเยอรมัน  เป็นต้น
ปัจจัยด้านชีวภาพทำให้ทารกในครรภ์มารดาหรือในวัยก่อนคลอดมีความผิดปกติได้เช่น  การมีโรคทางพันธุกรรม หรือมีความผิดปกติของการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์อันเนื่องมาจากการใช้ยา  หรือจากการติดเชื้อโรคต่างๆ ของมารดา และสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม  ส่งผลให้พัฒนาการของทารกทางด้านร่างกายผิดปกติ และอาจส่งผลไปสู่ความผิดปกติของพัฒนาการด้านอื่น ๆ ต่อไป
2. ปัจจัยด้านจิตใจ  (Psychological Forces) ปัจจัยด้านจิตใจของบุคคลที่มีผลต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในช่วงอายุนั้นๆ มี  4  ปัจจัย  ดังนี้
     2.1   ปัจจัยการรับรู้ภายในตนเอง (Internal perceptual factors) เช่น การรับรู้เรื่องเพศของตนเองในระยะ   5 – 6  ปี  เด็กชายหรือเด็กหญิงเริ่มมีการรับรู้บทบาทของเพศที่แตกต่างกัน 
           2.2  ปัจจัยด้านความคิด (Cognitive factors) มีผลมาจากการเลี้ยงดูตั้งแต่ในวัยทารก  และวัยเด็ก การให้ความรักความอบอุ่น  การใช้เหตุผลในการอบรมเลี้ยงดู  การเล่นของเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านความคิดจะส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านความคิดและสติปัญญาของเด็กต่อไปในอนาคต
      2.3    ปัจจัยด้านอารมณ์  (Emotional factors) การได้รับความมั่นคงทางอารมณ์จากบิดามารดาตั้งแต่ในวัยทารกจะมีผลให้เด็กมีพัฒนาการทางอารมณ์เป็นไปอย่างเหมาะสม 
                 2.4   ปัจจัยด้านบุคลิกภาพ (Personality factors) การเป็นต้นแบบด้านบุคลิกภาพที่ดีของบิดามารดาจะทำให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม          
                    ปัจจัยเหล่านี้มีผลให้บุคคลมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความเป็นเอกลักษณ์หรือลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล เช่น การเป็นคนที่มีลักษณะสนุกสนานร่าเริงเนื่องจากมีการพัฒนาความนึกคิดและอารมณ์ที่เป็นไปในด้านบวกอยู่เสมอ การมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง   หรือการมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศซึ่งมีปัจจัยเนื่องมาจากภาวะจิตใจในวัยเด็ก เป็นต้น
3.  ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม  (Sociocultural Forces) ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรม  ประกอบด้วย  4  ปัจจัย  ดังนี้
            3.1 ปัจจัยสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal factors) เริ่มตั้งแต่ภายในครอบครัวมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน  ปฏิบัติต่อกันด้วยความรัก  ความเอื้ออาทร  ความห่วงใย  เด็กจะรู้สึกมั่นใจในการปรับตัวกับสังคมภายนอกและมีทัศนคติที่ดีต่อบุคคลทั่ว ๆ ไป
           3.2   ปัจจัยด้านสังคม (Societal factors) ตั้งแต่ในวัยเด็กการอบรมเลี้ยงดูส่งเสริมให้เด็กมีการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมในสังคม โดยเปิดโอกาสและกระตุ้นให้เด็กได้ซักถามเรื่องราวของสังคมภายนอกบ้านและอธิบายให้เข้าใจความแตกต่างของสังคมภายนอกบ้านของเด็กตามความสามารถการรับรู้ในแต่ละวัย ปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามให้กับเด็ก เด็กจะเริ่มมีการพัฒนาความสามารถในการปรับตัวได้ดีขึ้น
                   3.3   ปัจจัยด้านวัฒนธรรม  (Cultural factors) มีผลทำให้พัฒนาการของแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป เช่นเด็กไทยส่วนใหญ่มีลักษณะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับผู้ใหญ่เนื่องจากถูก อบรมให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามที่ผู้ใหญ่ได้แนะนำสั่งสอนแตกต่างจากวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งส่งเสริมให้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็น  มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถแสดงความคิดเห็นขัดแย้งกับผู้ใหญ่ได้อย่างมีเหตุผล
                    3.4   ปัจจัยด้านมนุษย์วิทยา (Ethnic factors) ลักษณะที่แตกต่างกันของกลุ่มชนที่อยู่ร่วมกันมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของมนุษย์ เช่น ความแตกต่างด้านลักษณะรูปร่าง การดำรงชีวิตของคนผิวดำในประเทศอเมริกา ทำให้มีคนอเมริกันบางกลุ่มรังเกียจคนผิวดำ ความแตกต่างในการนับถือศาสนาของประชาชนชาวอินเดียทำให้มีการแบ่งชนชั้นในสังคม หรือความแตกต่างในการดำรงชีวิตของบุคคลในครอบครัว เช่น ครอบครัวที่มีมารดาเป็นคนไทยแต่มีบิดาเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณีจีน ย่อมส่งผลให้บุตรหลานต้องยึดถือและปฏิบัติตามประเพณีของจีนด้วยเช่นกัน
 4.  ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับวงจรชีวิต (Life-cycle forces)
                   ความหมายของวงจรชีวิต (Life-cycle forces) หมายถึงการที่บุคคลจะแปลความหมายของเหตุการณ์ใดๆ ว่ามีผลอย่างไรต่อตนเองนั้น  ขึ้นอยู่กับความคิดและประสบการณ์เดิมของบุคคล ประกอบกับเวลาที่เกิดขึ้นของเหตุการณ์นั้น ๆ (Kall and Cavanaugh, 1996) คือในสถานการณ์เดียวกันบุคคลแต่ละคนอาจจะแปลความหมายของสถานการณ์นั้น ๆ ไม่เหมือนกันเนื่องจากความแตกต่างระหว่างบุคคล  เช่น  การตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่มีอายุเหมาะสม  มีวุฒิภาวะและมีความพร้อมด้านสภาพครอบครัวโดยที่สามีและตนเองวางแผนที่จะมีบุตรภายหลังการแต่งงาน  กับการตั้งครรภ์ของหญิงวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเรียนและมีความสัมพันธ์ไม่ยั่งยืนกับคู่นอน  จากสถานการณ์ข้างต้นมีการแปลความหมายของการตั้งครรภ์แตกต่างกันระหว่างผู้หญิงทั้งสองคน หญิงวัยรุ่นอาจแปลความหมายของการตั้งครรภ์ว่าเป็นสถานการณ์ที่ไม่อยากจะให้เกิดขึ้นอาจมีความต้องการทำลายทารกในครรภ์ในขณะที่ผู้หญิงที่มีความต้องการบุตรก็จะแปลสถานการณ์ดังกล่าวว่าเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดีทำให้ครอบครัวมีความสุข  เป็นต้น
สรุปได้ว่าปัจจัยวงจรชีวิตนี้ได้รับอิทธิพลมาจากปัจจัยทางด้านชีวภาพ  ปัจจัยทางด้านจิตใจ  และปัจจัยทางด้านสังคมและวัฒนธรรมนั่นคือความแตกต่างระหว่างบุคคลมีพื้นฐานมาตั้งแต่ระดับของพันธุกรรมสิ่งแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดูจากครอบครัว  เมื่อมีสถานการณ์ใด ๆ เกิดขึ้นบุคคลจึงให้ความหมายของสถานการณ์นั้น ๆ แตกต่างกันไปตามความคิดและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล
ปัจจัยด้านชีวภาพ  ปัจจัยด้านจิตใจ  ปัจจัยด้านสังคมและวัฒนธรรมและปัจจัยวงจรชีวิต  ส่งผลต่อพัฒนาการของมนุษย์ บุคคลแต่ละคนมีพัฒนาการที่แตกต่างกันเริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา การถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของมารดาขณะตั้งครรภ์   และเมื่อมีการเจริญเติบโตขึ้นมีการพัฒนาทางด้านร่างกายขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาการทางด้านจิตใจ สติปัญญา สังคมและวัฒนธรรมประเพณี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งแวดล้อมในครอบครัว  สัมพันธภาพของบุคคลในครอบครัว  และการประเมินตัดสินสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิต   สิ่งเหล่านี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ  ผู้ศึกษาต้องเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ในแต่ละช่วงวัยต่อไป 
  
ที่มา อาจารย์อาภากร เปรี้ยวนิ่ม เอกสารประกอบการสอน วิชา จิตวิทยาพัฒนาการ     (Developmental  Psychology)

No comments:

Post a Comment

เชิญร่วมแสดงความคิดเห็นต่างๆได้นะครับ